พูดถึงสระบุรี หลายคนคงนึกถึงน้ำตกเจ็ดสาวน้อยเย็นฉ่ำ ทุ่งทานตะวันบานสะพรั่งในฤดูหนาว วัดพระพุทธบาทคู่บ้านคู่เมือง ฟาร์มปศุสัตว์ และกะหรี่ปั๊บแสนอร่อย แต่รู้ไหมว่าสระบุรีไม่ได้มีแค่นี้ ยังเป็นเมืองอุตสาหกรรมสำคัญของไทยด้วย!
ด้วยทำเลที่ตั้งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สะดวก สระบุรีจึงมีโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย ตั้งแต่อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เหล็ก ไปจนถึงอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โครงสร้างพื้นฐานก็ทันสมัยสุด ๆ ตอบโจทย์ทั้งภาคธุรกิจและประชาชน
จากข้อมูลขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2567) พบว่า การเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ทำให้จังหวัดสระบุรีมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ (รองจากกรุงเทพมหานคร และจังหวัดชลบุรี) ประมาณ 22.10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งการปลดปล่อยอยู่ในภาคอุตสาหกรรมสูงถึง 66.87% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในจังหวัด รองลงมาคือ ภาคพลังงาน 22.63% ภาคการขนส่ง 5.16% ภาคเกษตร 4.45% และภาคการจัดการของเสีย 0.89% ตามลำดับ
ก๊าซเรือนกระจกเยอะ โลกยิ่งเดือด!
ก๊าซเรือนกระจกช่วยให้โลกเราไม่หนาวเกินไป แต่ถ้ามีมากไปก็ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นจนเกิดภาวะโลกร้อน และตอนนี้เราเข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด” แล้ว! นอกจากจะทำให้โลกร้อน ยังทำให้เกิด “ภาวะโลกรวน” ด้วย ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย อากาศร้อนระอุขึ้นทุกปี น้ำท่วม-น้ำแล้งบ่อย ๆ ชีวิตเราเลยยุ่งเหยิงไปหมด
สาเหตุหลักที่ก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็มาจากกิจกรรมของมนุษย์นี่แหละ! จึงเกิดการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และไทยก็ตั้งเป้าเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศในทุกภาคส่วน (Sector) 30 – 40% ภายในปี 2030 พร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065
สระบุรีเริ่มแล้ว…ก้าวสู่เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ
ธรรมชาติส่งสัญญาณ SOS ไม่หยุด จังหวัดสระบุรีไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ จับมือกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ภาคเอกชน ภาครัฐ รวมกว่า 21 หน่วยงาน และขยายความร่วมมือเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการนำเครื่องมือ Sandbox มาทดลองให้จังหวัดสระบุรีเป็น “ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ (Saraburi Low Carbon City)” แห่งแรก ที่ดึงหลายภาคส่วน มาร่วมมือกันทำกิจกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เริ่มแล้ว!!! กับ 6 โครงการสำคัญ ได้แก่
1. เปลี่ยนสู่พลังงานสะอาด (Energy Transition) ส่งเสริมการใช้พื้นที่ว่างผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) และใช้เครือข่ายไฟฟ้าร่วมกันด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานได้ง่ายขึ้น
2. อุตสาหกรรมสีเขียวและผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตปูนซีเมนต์จะเปลี่ยนการผลิตเป็นแบบคาร์บอนต่ำ (Hydraulic Cement) ตั้งแต่ปี 2567 กำหนดให้ทุกงานก่อสร้างใช้ปูนคาร์บอนต่ำ และลงทุนในเทคโนโลยีดักจับกักเก็บคาร์บอน
3. การจัดการของเสีย (Waste to Value) จัดตั้งศูนย์จัดเก็บและรับซื้อวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากชุมชน เกษตรและอุตสาหกรรม นำมาเป็นวัตถุดิบหรือพลังงาน ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
4. เกษตรคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Agriculture) เน้นการเกษตรตามโมเดล BCG เช่น การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ลดการใช้น้ำ ลดต้นทุน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคู่กับส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์
5. เพิ่มพื้นที่สีเขียว (Land Use, Land Use Change & Forestry) ปลูกป่าชุมชนเพิ่ม 38 แห่งทั่วจังหวัด ช่วยดูดซับคาร์บอน และขยายผลสู่การซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต
6. บูรณาการความรับผิดชอบและการกำกับดูแล ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจบริหารจัดการแบบ Area-Based สามารถพิจารณาข้อราชการระหว่างกระทรวงในจังหวัด และร่วมมือกับภาคเอกชนและประชาสังคมได้อย่างคล่องตัว
โครงการเหล่านี้ไม่เพียงแต่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับปรุงคุณภาพอากาศ แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในจังหวัดสระบุรีให้ดีขึ้น ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำ และยังมีเป้าหมายในการขยายโครงการและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน
สระบุรีพิสูจน์แล้วว่า แม้จะเป็นเมืองอุตสาหกรรม แต่ก็สามารถมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและลดการปล่อยคาร์บอนได้ ด้วยการร่วมมือกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
สุดท้ายนี้ ทุกคนมีบทบาทในการช่วยโลก ด้วยการใช้ชีวิตประจำวันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการใช้พลังงาน ลดการสร้างขยะ แยกขยะก่อนทิ้ง ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ปลูกต้นไม้ เพราะทุก ๆ การกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
“การร่วมมือกันของทุกคนจะช่วยให้โลกกลับมาดีขึ้น และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อไปได้”
ติดตามสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้ที่
Website: opdc.go.th
Facebook: กพร OPDC
Youtube: youtube.com/@OPDCThailand
ข่าวประชาสัมพันธ์ถูกโพสต์ หรือเขียนขึ้นโดย: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)
ทางทีม prinsiderth.com (PR Insider Thailand) ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเขียนข่าวหรือโพสต์ข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับนี้ เว็บเป็นเพียงสื่อกลาง ที่เปิดให้เจ้าของข่าวประชาสัมพันธ์หรือตัวแทนโดยชอบธรรมได้โพสต์ด้วยตัวเอง